https://www.facebook.com/PeopleValue.Co.Th
12507 จำนวนผู้เข้าชม |
คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก
หนึ่งในปัญหาตลอดกาลของที่ทำงานก็คือ “ปัญหาเรื่องคน” ดังที่เขาว่า “มากคนก็มากความ” แต่จะให้ย้ายที่ทำงานเพราะเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ หรือจะให้อดทนอดกลั้นก็เหน็ดเหนื่อยซะเหลือเกิน ถึงจะไม่รักใคร่กลมเกลียวกันก็ยังทำงานได้ แต่คงจะสบายกว่าเยอะถ้าไม่ต้องบริหารอารมณ์ไปพร้อมๆ กับการบริหารงาน
ผมอยากจะบอกเหลือเกินว่า “อคติ” นี่แหละคือหนึ่งในสาเหตุของปัญหาเรื่อง “คน” ในที่ทำงาน เพราะมนุษย์เราเกิดอคติตลอดเวลาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันทำให้เรามองคนอื่นๆ และมองตัวเองด้วยแว่นตาขมุกขมัวอยู่เสมอ บางครั้งเรามองคนบางคนดีเกินจริง และบางครั้งเราก็มองคนบางคนแย่เกินกว่าความเป็นจริง
มาลองทำแบบทดสอบสั้นๆ กันครับ มาดูกันว่าเรามองเห็นความจริงแค่ไหน!
ผมได้ไปนั่งที่ป้ายรถเมล์หน้ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมาครับ แล้วลองสังเกตพฤติกรรมของคนที่มาใช้บริการที่ป้ายรถเมล์นี้ครู่สั้นๆ เราลองมาค้นหา “อคติ” ของผมจากเรื่องที่ผมเล่าข้างล่างนี้ดูนะครับ
- - นักศึกษาหญิงปีหนึ่งกำลังนั่งรอรถเมล์ที่ป้ายรถ เธอนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือสลับกับชะเง้อมองสายรถที่จะขึ้น - -
ให้เวลามองหาอคติ 2 นาทีครับ ใครพร้อมแล้วลงไปดูเฉลยข้างล่างได้เลย
.
.
.
.
.
.
.
- - นักศึกษาหญิงปีหนึ่งกำลังนั่งรอรถเมล์ที่ป้ายรถ เธอนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือสลับกับชะเง้อมองสายรถที่จะขึ้น - -
ที่ขีดเส้นใต้นี่แหละครับคืออคติ
นักศึกษา สถานะนักศึกษานี่เป็นสิ่งที่เราคิดไปเองครับ เราแค่ประเมินจากสภาพแวดล้อมแล้วตัดสินเอาเอง แต่จริงๆ เขาอาจจะหน้าเด็ก อาจจะเรียนจบแล้ว อาจจะแค่หยิบชุดมาใส่ไปถ่ายรูปเล่นระลึกความหลังกับเพื่อนๆ หลังเรียนจบก็ได้
หญิง เดี๋ยวนี้ผู้ชายสวยๆ เยอะครับ และบางมหา’ลัยก็อนุญาติให้นักศึกษาเลือกใส่ชุดตาม gender ของตัวเองในวันเรียนได้ด้วยนะครับ
ปีหนึ่ง นี่เป็นเรื่องที่เราเดาเอาจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อาจจะเพราะรองเท้า เข็มกลัด เสื้อ หรือกระโปรง แต่จริงๆ แล้วเขาอาจจะเรียนปีหนึ่งหรือไม่ก็ได้ บางทีอาจจะเป็นรุ่นพี่ที่ตีเนียนเป็นรุ่นน้องก็ได้เช่นกัน
รอรถเมล์ จริงๆ เขาอาจจะรอแท็กซี่ รอสองแถว หรือรอรถตู้ก็ได้นะครับ
เล่นโทรศัพท์มือถือ อันนี้ค่อนข้างชัดเจน เพราะในช่วงเวลาเพียงชั่วครู่เราไม่มีทางรู้ว่าจริงๆ เขากำลังเล่น หรือกำลังคุยเรื่องสำคัญ หรืออาจจะทำงานอยู่ก็ได้ครับ
มองสายรถที่จะขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องรอรถครับ จริงๆ เขาอาจจะไม่ได้มองหาสายรถที่จะขึ้น แต่อาจจะรอเพื่อนที่นัดไว้ว่าจะมาลงที่ป้ายรถนี้ก็ได้
เห็นไหมครับประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียวที่ผมสื่อสารออกไปกลับมีอคติมากมายขนาดนี้ ในชีวิตจริงเราสื่อสารกันมากกว่านี้ เราจับสังเกตคนอื่นๆ มากบ้างน้อยบ้าง อคติของเราเจือปนอยู่กับข้อมูลมหาศาล
ที่สำคัญคือ เราไม่เคยแยกอคติของเราออกมา แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่เราเห็นคือข้อเท็จจริงเสมอ
เราอาจตีความการนิ่งเงียบของเพื่อนร่วมงานเป็น "ความหยิ่ง" "ความเพิกเฉย" "ความกวนตีน" "ความอารมณ์ไม่ดี" "ความไม่ใส่ใจ"
เราตีความการปฏิเสธนัดหมายเป็น "ความไม่เป็นมิตร" "ไม่ให้ความร่วมมือ" "ไม่เห็นความสำคัญ"
เราอาจตีความคำตอบรับ "อาฮะ" คำเดียวเป็น "การเห็นด้วย" "กำลังฟังอยู่" หรือ "ไม่สนใจจะฟัง" ก็ได้
เราสามารถตีความการกระทำเพียงอย่าเดียวได้หลากหลายมาก ขึ้นกับตัวบุคคล สถานการณ์ สถานที่ บริบทแวดล้อม โดยที่อาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาคิดหรือรู้สึกอย่างไร
หลายครั้งอคติเล็กๆ น้อยๆ พอรวมกันแล้วก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เป็นความไม่พอใจที่พูดไม่ได้อธิบายไม่ถูก พูดไปก็เหมือนเรื่องเล็ก แต่ถ้าเริ่มพูดแล้วก็ไหลออกมาได้เรื่อยๆ ไม่มีหยุด บางทีก็ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งไป
ผมคิดว่าในการทำงานเรามีความขัดแย้งกันด้วยหน้าที่ หรือเป้าหมาย หรือสถานการณ์ได้อยู่แล้วครับ เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มอคติเข้าไปเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้ง ไม่ว่าจะกับที่บ้านหรือที่ทำงานก็ตาม
ถ้าหากวันใดวันหนึ่งคุณเกิดปรี๊ดแตก โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงใครสักคนขึ้นมา ลองใจเย็นๆ แล้วสมมติดูซิว่า ถ้าหากเป็น “คนอื่น” ทำเรื่องเช่นเดียวกันนี้กับคุณ คุณจะโกรธเขาเท่านี้ไหม
อย่าปล่อยให้อคติบดบังตาของเราครับ แม้จะยังชอบเขาไม่ได้ แค่ไม่ต้องอารมณ์เสียเมื่อเจอหน้ากันผมว่ามันก็โอเคแล้วนะครับ
People Value