https://www.facebook.com/PeopleValue.Co.Th ผู้นำทางปัญญา สะสมทุนทางปัญญา ตอนที่ 3 (จบ) - peoplevalue

ผู้นำทางปัญญา สะสมทุนทางปัญญา ตอนที่ 3 (จบ)

6663 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผู้นำทางปัญญา สะสมทุนทางปัญญา ตอนที่ 3 (จบ)

ทุนทางปัญญา ก็คือ
ผลของความคิด ในการใช้สิ่งที่มีอยู่ใกล้ๆ ตัวมาสร้างสรรค์ หรือ ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

ทุนทางปัญญา ประกอบด้วย ทุนทั้งหมด 3 ชนิดคือ

1. Human Capital             ทุนมนุษย์

2. Social capital                ทุนทางสังคม

3. Structural Capital          ทุนทางโครงสร้าง

มารู้จักทุนตัวสุดท้ายครับ

 

3. Structural capital (ทุนทางโครงสร้าง)

ทุนตัวนี้ เกี่ยวเนื่องมาจาก ทุนตัวที่ผ่านมา คือ ทุนทางสังคม

เมื่อเราทราบว่า ทุนทางสังคม สามารถเชื่อมต่อ ทุนมนุษย์ ให้เกิดพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทวีคูณ แต่หากคนจำนวนหนึ่งในองค์กร ต้องไปทำงานอย่างอื่นที่เหนือกว่า เช่น งานบริหาร หรือ งานอื่นๆ ในสายเดียวกัน พลังที่ว่านั้นก็จะหายไป จึงต้องมีทุนอีกตัวหนึ่งเข้ามาเป็นฐานรองรับ ทุนทางสังคมให้อยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน เราเรียกทุนนี้ว่า “ทุนทางโครงสร้าง”

Structural Capital (ทุนทางโครงสร้าง) คือ สิ่งที่ทำให้ ทุนมนุษย์ ที่เชื่อมต่อด้วยทุนทางสังคม กันนั้น คงอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่องค์กรนั้นมีสภาพอยู่ แม้ว่า ผู้ก่อตั้ง หรือ สมาชิกคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดจะไม่ได้อยู่ในองค์กรนั้นแล้วก็ตาม

ประกอบขึ้นด้วยหลากหลายปัจจัย แต่ขอยกมาเพียง 4 ส่วนนี้ คือ

1.      Rule           นโยบาย กฎข้อบังคับ ระเบียบ แบบแผน

2.      Process      กระบวนการต่างๆ

3.      Data           ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้

4.      Media         สื่อต่างๆ

              
จริงๆ แล้วองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่จำเป็นจะต้องสร้าง “ทุนทางโครงสร้าง” นี้ขึ้นมาก็ได้ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป สมาชิกในองค์กรไม่ได้อยู่ร่วมกับองค์กรแล้ว แต่หากสร้างเอาไว้ โครงสร้างเหล่านี้จะคอยสานต่อให้สมาชิกรุ่นหลังๆ ได้ เรียนรู้และเข้าใจในบทบาทต่างๆ ขององค์กร

เราเห็นเด่นชัดจากองค์กรที่เรียกว่า “ศาสนา”

ถึงแม้ ศาสดา หรือ ผู้ก่อตั้ง จะไม่อยู่ในองค์กรแล้วก็ตาม แต่ หลักธรรม คำสอน กระบวนการ พิธีการ ความรู้ ข่าวสาร เรื่องเล่า ที่ปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คัมภีร์ หนังสือ บทกลอน คำจารึก ยังส่งต่อมาสู่คนรุ่นหลัง แม้เวลาล่วงเลยไปนานเป็น พันๆ ปี ก็ตาม

ตัวอย่าง มดปัญญา

หากมดปัญญา 20 ตัว มีเครื่องมือยกของที่หนักกว่าพวกมันได้ 600 เท่าแล้ว หากมันจะยกของหนัก 600 เท่าจริงๆ แต่มีมดปัญญาไปทำงานอื่น 5 ตัว ทำให้มดปัญญาเหลือเพียง 15 ตัว ก็ไม่สามารถยกของดังกล่าวให้สูงขึ้นได้

มันจึงต้องประดิษฐ์ ชั้นเหล็ก ที่สามารถรองรับของหนัก 600 เท่า เพื่อมันจะได้นำของชิ้นนี้ ไปวางไว้บนชั้นนี้ เพื่อมันจะได้ไปทำงานอื่นๆ ได้

 

มาที่หนุ่มปั้นหม้อ ของเราคนนี้บ้างนะครับ

จากเดิมที่เขาเกิดมาในตระกูล ช่างปั้นหม้อ เรียนรู้วิธีการปั้นหม้อจากครอบครัว ทั้งจากบิดาและพี่ชาย เขาได้ไปเรียนรู้วิธีการปั้นหม้อจากต่างแคว้น ต่างแดนไกลจนสามารถออกแบบ และ สร้างรูปปั้นต่างๆ จากทักษะความรู้เดิมที่มี จนมาเป็นโรงงานปั้น โดยการชักชวนเด็กๆ และ คนในถิ่นเข้ามาเรียนรู้วิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดทักษะในการปั้น เพื่อช่วยเหลือเขาในการปั้นสิ่งต่างๆ ที่คหบดี และ พระราชาต้องการได้ ในที่สุดเขาก็มีผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้และทำงานมากถึง 100 คน

บัดนี้เขาแก่ตัวลงไปมาก จากหนุ่มน้อยก็กลายเป็น พระครูช่างปั้นตามศักดินาที่พระราชามอบให้ จากการที่เขาเปิดโรงเรียนช่างปั้นขึ้นมาเพื่อถ่ายทอด ความรู้ ทักษะ ความสามารถ ให้กับผู้สนใจเรียน เขาสร้างสื่อการสอนที่จารึกใน รูปปั้น และยังสร้างรูปปั้นที่สอนการปั้นไปในตัว (เหมือน รูปปั้น ฤาษีดัดตน ที่เราพบเห็นกัน)

จวบจนเขาสิ้นลม เขาได้สร้างศิลปินช่างปั้นขึ้นมามากมาย กระจายไปทั่วทุกหนแห่งบนโลก เพื่อสร้างสรรค์ งานปั้นทุกรูปแบบที่วิจิตรตระการตา แล้วแต่ศิลปินคนนั้นจะรังสรรค์มันขึ้นมาได้ ก็ด้วยการมาเรียนรู้จาก “อาศรมช่างปั้น” ที่หิมพานต์แห่งนี้

 

นี่อาจเป็นเรื่องเล่าที่บรรจงแต่งขึ้นมา เฉกเช่นงานปั้นที่หนุ่มน้อยคนนี้ปั้นขึ้น ผู้พบเห็นงานปั้นเล่มนี้ อาจเป็นเพียงผู้เดินผ่านไปมาและเหลือบมาเห็นหม้อใบหนึ่ง หรืออาจเป็นพระราชาผู้รองแคว้นใด ที่แสวงหา ความรู้อันทรงค่านี้ และต้องการจะเนรมิต รูปปั้นที่เลอค่าที่สุดขึ้นมาในแคว้น

แต่ผู้เขียนเองไม่มีเจตนาใดทั้งสิ้นที่จะหลบหลู่ศิลปะวิธีในงานปั้น แต่เพียงเพื่อบอกเล่าถึง “ทุนมนุษย์” ของเราๆ ท่านๆ ที่สามารถสร้างคุณค่าเชื่อมต่อกันด้วย “ทุนทางสังคม” ก่อเกิดกัลยาณมิตรทั่วแคว้น และก่อร่างเป็น “ทุนทางโครงสร้าง” ที่จะสืบทอดสิ่งดีๆ นี้ไปชั่วลูกชั่วหลาน จึงบรรจงแต่งเรื่องเรื่องนี้มาเท่านั้นเอง

   

สรุป

ทุนทางปัญญา แม้ไม่มีเงินตรา ก็พัฒนาองค์กรได้

ทุนทางปัญญา = ทุน + ปัญญา ก็คือ
ผลของความคิด ในการใช้สิ่งที่มีอยู่ใกล้ๆ ตัว มาสร้างสรรค์ หรือ ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

ประกอบขึ้นจาก ทุน 3 ชนิดด้วยกันคือ

1. ทุนมนุษย์

ทุนที่ใช้ปัญญา ความคิด ความรู้ ทักษะ ความสามารถของคนแต่ละคนในองค์กร ที่มีอยู่แล้วมาช่วยในการแก้ปัญหา หรือ พัฒนาองค์กรร่วมกัน

2. ทุนทางสังคม

การร้อยเรียงหรือเชื่อมต่อ คนในองค์กรเดียวกัน (ทุนมนุษย์) ให้สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ เพื่อสร้างผลงานออกมาได้ดีขึ้น มากขึ้น เร็วขึ้น

3. ทุนทางโครงสร้าง

สิ่งที่ทำให้ ทุนมนุษย์ ที่เชื่อมต่อด้วยทุนทางสังคม กันนั้น คงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่องค์กรนั้นมีสภาพอยู่ แม้ว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะไม่ได้อยู่ในองค์กรนั้นแล้วก็ตาม

 

อ.นิพัฒน์ ชัยวรมุขกุล (อ. ALMON) ที่ปรึกษาด้านการวางระบบพัฒนากลยุทธ์องค์กร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้