https://www.facebook.com/PeopleValue.Co.Th
5496 จำนวนผู้เข้าชม |
ห่างหายไปพอสมควรกว่าจะได้กลับมาแลกเปลี่ยน และแบ่งปันประสบการณ์ทางด้านงาน HRD ให้กับเพื่อนๆ พี่และน้องชาว HRD หัวหน้างาน และผู้บริหารธุรกิจทุกๆ ท่าน
ช่วงปีใหม่ 2018 ที่ผ่านมาน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดี และเป็นช่วงเวลาแห่งความอบอุ่นและความสุขของทุกๆ ท่านนะครับ สำหรับผมแล้วปี 2017 ที่ผ่านมานั้น เป็นปีที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ และฝึกฝนตนเองเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาตนเอง (Self-development) จากภายใน (Inside) อย่างมากมาย โดยจุดเริ่มต้นจาก “ความรัก” ซึ่งในโอกาสต่อไปผมคงจะได้นำประสบการณ์การพัฒนาเองที่เกิดขึ้นมาแลกเปลี่ยนให้กับทุกๆ ท่านต่อไปครับผม
สำหรับในบทความนี้ ผมขอแบ่งปันประสบการณ์ของผมเกี่ยวกับ Training needs หรือ Learning needs ต่อเนื่องจากบทความ#3 ตอน : ว่าด้วยเรื่องของ Training Needs ที่ผ่านมา ซึ่งในบทความนี้ ผมจะพูดถึง แหล่งที่มาของ Training needs และประเด็นสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกท่านสามารถนำไปใช้เป็น Guideline ในการหา Training needs สำหรับหน่วยงาน หรือองค์กรตนเองได้ต่อไป
แหล่งที่มาของ Training needs (การชี้เป้าหมายตำบลกระสุนตก)
เพื่อให้ทุกๆ คนเห็นภาพได้ง่ายและชัดเจน ผมขออุปมาอุปมัยการกำหนด Training needs กับการที่เราเห็นทหารเขายิงปืนใหญ่ไปยังคู่ต่อสู้ โดยก่อนการยิงปืนใหญ่นั้น ทหารปืนใหญ่ก็คงจะต้องได้รับข้อมูล หรือการรายงานตำแหน่ง / สถานที่ / ตำบลที่ต้องการให้เกิดการโจมตีด้วยกระสุนปืนใหญ่ เราเรียกว่า การชี้เป้าหมาย
จากทหารราบ และเมื่อทหารปืนใหญ่ทำการยิงปืนใหญ่ออกไปแล้ว ทหารราบก็ต้องทำรายงานผลลัพธ์ของการยิงปืนใหญ่ว่าไปตกยังพื้นที่ซึ่งต้องการโจมตีอย่างแม่นยำตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ถ้าทหารราบทำการชี้เป้าหมายตำบลกระสุนตกไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน ไม่แม่นยำ ผลลัพธ์ของการยิงปืนใหญ่ก็ไม่ต้องพูดถึง สร้างเหตุอย่างไร ก็คงได้ผลเช่นนั้นครับ
ซึ่งเรานัก HRD ก็เมือนหนึ่งเป็นทหารราบที่ทำการชี้เป้าหมายในการของบประมาณของบริษัท (ลูกปืนใหญ่) เพื่อทำการพัฒนาความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะของพนักงานภายในบริษัท ให้สามารถทำธุรกิจได้ตามวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายที่บริษัทกำหนดไว้
ก่อนที่เราจะชี้เป้าหมายได้อย่างชัดเจน แน่นอน และแม่นยำ เราต้องรู้จักภูมิประเทศของสนามรบที่เราอยู่เสียก่อนครับ ดังนั้น ผมขอแบ่งประเภทของแหล่งที่มาของ Training needs แบบกว้างๆ เพื่อเป็นการกำหนด (Scope) กรอบความคิดของทุกๆ ท่าน ดังนี้
1. A1 : ตำบล Business driven
คือ พื้นที่ของการพัฒนาบุคลากรที่มุ่งเน้นผลลัพธ์เพื่อการตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ของบริษัท
2. A2 : ตำบล Performance driven
คือ พื้นที่ของการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงาน และตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทได้ตามเป้าหมาย (KPIs) ที่ได้กำหนดไว้
3. A3 : ตำบล Competency driven
คือ พื้นที่ของการพัฒนาบุคลากรให้ตนเองและทีมงานมีขีดความสามารถตามมาตรฐานความสามารถตามตำแหน่งงาน (Competency) ที่บริษัทได้กำหนดไว้ เพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง, สร้างผู้สืบทอด (Successor), สร้างคนเก่ง-คนดีรุ่นใหม่ (Talent) และสร้างผู้นำในอนาคต (Future leader)
สำหรับการเรียงลำดับหัวข้อที่ผมเขียนมานี้ ผมเขียนตามลำดับความสำคัญของธุรกิจ (ที่ควรจะเป็น) แต่ชีวิตจริงของการเป็นนัก HRD และผู้บริหารธุรกิจระดับสูง ในประสบการณ์ของผมนั้นอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยสิ่งสำคัญที่เราอาจจะต้องพิจารณาร่วมด้วย คือ สถานการณ์ทางธุรกิจของบริษัทที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท เพื่อจะทำให้เรากำหนดตำบลกระสุนตกให้คม ชัดเจน และวัดผลลัพธ์ได้
สถานการณ์ทางธุรกิจนั้น ผมขอใช้หลักการทางธุรกิจง่ายๆ ด้วย Chart นี้ครับ เรียกว่า Business life cycle ครับผม
pic source : https://corporatefinanceinstitute.com
ผมขออนุญาตนำประสบการณ์ส่วนตัว อธิบายร่วมกับหลักการ (ทฤษฎี) เล็กน้อยนะครับ สำหรับนัก HRD เมื่อเราเข้าไปทำงานร่วมกับบริษัทแล้ว เราต้องทำการวิเคราะห์สถานการณ์ของบริษัทให้คมชัดว่าขณะนี้บริษัทของเรากำลังอยู่ใน state ไหน กล่าวคือ Launch (Start up), Growth, Maturity หรือ Decline หรือนัก HRD บางคนที่ต้องดูแลเป็นแบบ Business unit (หน่วยทางธุรกิจ) อาจจะต้องวิเคราะห์แยกกันระหว่างสถานะของบริษัท กับสถานะของหน่วยธุรกิจที่รับผิดชอบ
เพราะหากเรายังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าบริษัทของเราอยู่ในสถานะไหน เราก็จะไม่สามารถกำหนดวิธีการ หรือยุทธวิธีในการสร้างคนได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการประมาณการปริมาณกระสุน (งบลงทุนในคน) ได้อย่างเหมาะสม โดยให้นัก HRD ลองพิจารณาเส้น Sales, เส้น Cash และเส้น Profit ร่วมกันครับ
ครั้งหน้าผมจะมายกตัวอย่างให้ฟังครับว่าใน state ไหน เราควรจะลงน้ำหนักความสำคัญไปที่จุดใด
อ่านต่อ >> Training needs หามาจากแห่งหนตำบลไหนได้บ้าง (2/5) Launch (Start up)