https://www.facebook.com/PeopleValue.Co.Th
9672 จำนวนผู้เข้าชม |
ทำไมตอนทำ Team Building ก็ดูจะเป็นทีมดี แต่พอทำงานจริงทีไร ก็เหลวเป๋วทุกที?
ถ้าอยากจะตอบคำถามนี้ให้ได้ คุณต้องเข้าใจก่อนว่า ที่มาของทีม มาจากอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และองค์ประกอบหรือปัจจัยเงื่อนไขใดที่จะทำให้คงสภาวะของการเป็นทีมอยู่ได้
ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำ Process หรือกระบวนการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ผ่านทฤษฎีสากล 2 ทฤษฎี คือ Tuckman’s Stage of Group Development Model (ภาพซ้าย) และ GPRI Model (ภาพขวา)
ลองนึกถึงเวลาที่เราทำ Team Building ดูสิคะ ผู้นำกิจกรรม หรือวิทยากรแทบทุกคนจะให้ความสำคัญกับการทำการละลายพฤติกรรม (Ice Breaking) ก่อน นั่นก็เพราะว่า นอกจากการสร้างความพร้อมแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความคุ้นเคยและสร้างจุดยืนให้คนแต่ละคนอีกด้วย ซึ่งนับเป็นขั้นตอนแรกของการสร้างทีมที่เรียกว่า Forming ตามทฤษฎีของ Tuckman และเป็นปัจจัยแรกที่ต้องมีในการสร้างทีมตามหลักการของ GPRI Model คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Relationship) ช่วงเวลานี้ จึงเป็นช่วงที่ทีมงานแต่ละคนจะใช้ความสามารถที่แต่ละคนมีในการสร้างผลงานให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด เมื่อเทียบกลับมามองในการทำ Team Building ก็จะเป็นช่วงที่ให้ทำภารกิจง่าย ๆ ยังไม่ท้าทายมากนัก
แต่หากปล่อยให้ทีมทำภารกิจที่ไม่มีความท้าทายไปเรื่อย ๆ องค์กรก็ย่อมไม่เติบโตไปข้างหน้าสักที การเพิ่มความท้าทายที่มากขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกองค์กรต้องทำ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมแลกมาด้วยอุปสรรคต่าง ๆ ในช่วงเวลานี้เอง ที่แต่ละคนจะต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็นและหาข้อสรุปเพื่อให้ผ่านพ้นจุดวิกฤตนี้ไปได้ ช่วงเวลานี้จึงนับเป็นขั้นตอนที่ 2 ของการสร้างทีมที่เรียกว่า Storming
อย่างไรก็ตาม คนเราต่างก็มีวิธีคิดที่หลากหลาย มีวิธีการทำงานและมุมมองที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากต่างคนต่างสงวนจุดยืนของตัวเองไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บงำความคิด ความรู้สึก แล้วต่อต้านอยู่ในใจ หรือจะเป็นการยืนกรานในสิ่งที่ตนต้องการโดยไม่เปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และไม่มีการประนีประนอมใด ๆ ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ของทีมสั่นคลอน และระดับความสำเร็จของผลงานตกต่ำลง แต่ถ้าหากสามารถผสานความคิดเห็นที่แตกต่าง และหาข้อสรุปร่วมกันได้ ก็จะได้ทีมที่มีความสามัคคี ซึ่งนับว่าเป็นขั้นตอนที่ 3 ของการสร้างทีมที่เรียกว่า Norming หรือการสร้างวิถีปฏิบัติในการทำงานแบบเดียวกัน และเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดปัจจัยที่ 2 และ 3 ของการสร้างทีม คือ Procedure หรือกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ไม่ล้ำเส้นกัน และ Role หรือ บทบาท ความรับผิดชอบที่แต่ละคนต้องทำให้สำเร็จได้
เมื่อทีมมีความสัมพันธ์ที่ดี และมีวิถีปฏิบัติที่สอดคล้อง จนเกิดความสามัคคีและความสมานฉันท์กันในทีมแล้ว ก็จะมีความพร้อมที่จะรับเป้าหมายที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป้าหมายที่ทุกคนรับรู้ และมองเห็นล้วนเป็นภาพเดียวกัน มีความชัดเจน และเป็นรูปธรรม ก็จะยิ่งกระตุ้นให้ทีมช่วยกันอุดรอยรั่วของกันและกัน และปล่อยพลังศักยภาพที่ทุกคนมีให้ออกมาถึงขีดสุดได้ การกำหนดเป้าหมาย (Goal) จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยสุดท้ายในการสร้างทีม และเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายของการขับเคลื่อนทีมสู่ความสำเร็จ คือ Performing หรือการสร้างผลงานของทีมให้เห็นผลสำเร็จได้
ถึงบรรทัดนี้ ก็สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ โดยสรุปได้ว่า
1. กระบวนการสร้างทีมต้องใช้เวลา และสนับสนุนให้ทีมงานได้ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติ 4 ขั้นตอน คือ
Tuckman’s Stage of Group Development Model
ขั้นตอนที่ 1 Forming ด้วยการให้คุณค่ากับจุดยืนของแต่ละคน
ขั้นตอนที่ 2 Storming ด้วยการเปิดใจสื่อสาร และรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เมื่อเจอความท้าทายและอุปสรรคที่เข้ามา
ขั้นตอนที่ 3 Norming ด้วยการหาข้อสรุป และกำหนดวิถีปฏิบัติร่วมกัน
ขั้นตอนที่ 4 Performing ด้วยการสนับสนุนให้ทุกคนใช้ความถนัดที่มี ในการร่วมใจกันทำและร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ได้ผลงานตามเป้าหมายที่กำหนด
2. หากต้องการให้ทีมที่สร้างความสำเร็จมาแล้วนี้ สามารถคงสภาวะของการเป็นทีมต่อไปได้ ล้วนต้องหมั่นใส่ใจ 4 ปัจจัยสำคัญ คือ
GPRI Model of Team Effectiveness
ที่สำคัญ หลังจากประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้แล้ว อย่าลืมเฉลิมฉลองความสำเร็จร่วมกัน เพื่อประทับตราความทรงจำดี ๆ และเป็นอีกหนึ่งวิธีในการกระตุ้นให้เกิดการทำความสำเร็จให้เกิดซ้ำอีกได้ด้วยนะคะ
ขอให้ประสบความสำเร็จในการสร้างทีมได้อย่างยั่งยืนค่ะ